![]() |
ท่องเที่ยว บทความพิเศษ
สมัครงาน เศรษฐกิจ-ธุรกิจ การตลาด การลงทุน |
URL: www.phukettoday.com/news |
ฉบับที่ 625 ประจำเดือน สิงหาคม 2543 |
![]() |
|
3
เกาะรังนกพังงา
ข้าราชการจัญไรร่วมเขมือบ อนุกรรมาธิการท่องเที่ยว ลงพื้นที่ดูสามเกาะรังนกที่กลายเป็น "เกาะทองคำ" ก่อเหตุให้สองธุรกิจใหญ่เปิดศึกแย่งชิง แฉเจ้าของสัมปทานรังนกเขมือบนักท่องเที่ยวหัวละ 100 บาทต่อวัน พบเบื้องหลังมีข้าราชการจัญไร สุมหัวกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นแบ่งปันกันกิน แม้ป่าไม้ยังแบะๆ จากกรณีที่ชมรมเรือแคนูเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จังหวัดภูเก็ต ซึ่งนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ในพื้นที่จำนวน 3 เกาะคือ เกาะห้อง เกาะพนัก และเกาะทะลุจาก 43 เกาะที่อยู่ในบัญชีสัมปทานเก็บรังนก ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการธิการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 ที่ผ่านมา เพื่อให้คณะกรรมการรังนกจังหวัดพังงา พิจารณายกเลิกการให้สัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่ 3 เกาะดังกล่าว เนื่องจากเกาะทั้ง 3 แห่งไม่มีนกมาทำรังแต่อย่างใด และคณะกรรมการธิการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมมาธิการการท่องเที่ยว มีนางอัญชลี วานิช เทพบุตร เป็นประธาน นำคณะเดินทางมาดูข้อเท็จจริงยังอ่าวพังงา และร่วมประชุมหารือกัน ณ.ห้องประชุมศาลากลาง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 24 ก.ค.43 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีนายอำนวย รองเงิน ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นำผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง นางอัญชลี วานิช เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต ประธานคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎกล่าวว่า การมาครั้งนี้ก็เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชมรมผู้ประกอบการเรือแคนูเพื่อการอนุรักษ์จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งได้ลงไปดูพื้นที่จริงที่เป็นปัญหาทั้ง 3 เกาะด้วย โดยไม่ได้มีการสรุปความเห็นว่าอย่างไร แต่หลังจากนี้จะนำข้อมูลที่ได้รับเข้าไปเสนอต่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ฯ และเสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อร่วมกันพิจารณาว่าจะมีการยกเลิกสัมปทานรังนกทั้ง 3 เกาะหรือไม่ หรืออาจจะเพิ่มเกาะที่ยกเลิกอีก 2 แห่งคือเกาะสุรินทร์และเกาะสิมิลันเข้าไปด้วยหรือไม่ โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ นางอัญชลี กล่าวอีกว่า การเก็บข้อมูลในวันนี้มีสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกเป็นการดูว่าจำนวนปริมาณรังนกทั้ง 3 เกาะ ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด หากเปรียบเทียบกับรายได้ที่จะได้จากการท่องเที่ยว ประเด็นที่สองหากยกเลิกการสัมปทานเกาะทั้ง 3 แล้ว หน่วยงานท้องถิ่นที่เคยได้ส่วนแบ่งจากค่าสัมปทานเก็บรังนก จะสามารถออกข้อบังคับหรือระเบียบใด ๆ มาเก็บเงินเป็นรายได้ของท้องถิ่นเองได้อย่างไร ส่วนนายธิติ โมกขพันธ์ ประธานชมรมเรือแคนูเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จังหวัดภูเก็ตได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางผู้ประกอบการเรือแคนูเพื่อการท่องเที่ยวได้จ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน คิดจากจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นรายหัว โดยคิดคนละ 100 บาทต่อวัน ทั้งนี้ในรอบปี 2542 ได้จ่ายเงินให้กับทางบริษัทไปจำนวน 7,800,000 บาทคิดจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่ได้รับโควต้า ซึ่งยังไม่รวมกับนักท่องเที่ยวจีนอีกส่วนหนึ่ง โดยตามข้อตกลงเบื้องต้นนั้น ทางบริษัทผู้รับสัมปทานจะนำเงินจำนวนนี้ไปแบ่งให้กับทางจังหวัดและหน่วยงานปกครองท้องถิ่นเช่น อบจ.หรือ อบต.แต่ทราบมาว่าขณะนี้ทุกหน่วยงานยังไม่ได้รับดังนั้น หากมีการยกเลิกการให้สัมปทานพื้นที่ดังกล่าว เงินจำนวนนี้ก็จะตกให้กับจังหวัดหรือหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งน่าจะดีกว่ามอบให้กับบริษัทผู้รับสัมปทาน สำหรับกรณีนี้ นายไพบูลย์ ชื่นเจริญ ป่าไม้จังหวัดพังงาได้กล่าวว่า ความขัดแย้งเรื่องนี้มีมาเป็นเวลานาน ได้มีผู้ประกอบการเข้าไปร้องเรียนถึงกรมป่าไม้และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรมป่าไม้กำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติรังนกอีแอ่นแล้ว ได้มีระเบียบกรมป่าไม้ระบุว่า ผู้รับสัมปทานไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บเงินใด ๆ จากบุคคลภายนอก หากฝ่าฝืนอาจถูกระงับการสัมปทานได้ นายมานิตย์ วัฒนเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงากล่าวว่า ในเรื่องของการจัดเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในเขตอุทยานนั้น สำนักงานอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาเป็นผู้จัดเก็บจากนักท่องเที่ยวคนละ 20 บาท/วัน ซึ่งต้องส่งเข้าไปที่กรมป่าไม้ และตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงมหาดไทย จะมีการแบ่งให้กับหน่วยงานท้องถิ่นร้อยละ 5 ของเงินที่จัดเก็บได้ซึ่งถือว่าน้อยมาก อยากจะฝากเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมมาธิการ และ สส.ที่เกี่ยวข้องให้มีการแบ่งสัดส่วนรายได้ให้เป็นธรรมด้วย ส่วนกรณีเงินที่ทางชมรมได้จ่ายให้กับบริษัทนั้น เป็นการตกลงกันเอง ทางราชการไม่ได้เกี่ยวข้อง และถือว่าเป็นเงินนอกระบบที่ผ่านมาทางจังหวัดหรือหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากบริษัทสัมปทาน และไม่ทราบว่าเงินจำนวนนี้ไปอยู่ที่ไหน ทางด้านนายอำนวย รองเงิน ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ในฐานะประธานคณะกรรมการรังนกจังหวัดพังงากล่าวว่า ในการเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานจักเก็บรังนกในครั้งต่อไปนั้น ทางคณะกรรมการจะพิจารณาโดยเน้นผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก ผู้สื่อข่าวรายงานมาอีกว่า ประเด็นที่ถกเถียงกันในที่ประชุมพอสรุปได้ว่า เป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเรือแคนู และเจ้าของสัมปทานรังนก ประกอบกับมีข้าราชการผู้เกี่ยวข้องกลุ่มหนึ่งได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ โดยเฉพาะจากเงินนอกระบบที่มีการจ่ายกัน ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกลุ่มนั้นพยายามที่จะยื้อเกาะทั้ง 3 ให้อยู่ในสัมปทานต่อไป เพื่อให้สามารถเก็บเงินค่าหัวจากนักท่องเที่ยวมาแบ่งกัน ทั้งที่ไม่มีนกมาทำรังตั้งนานแล้ว หรือหากมีก็เป็นจำนวนน้อยไม่คุ้มกับการจัดเก็บ แต่ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงเงินจำนวนนี้ว่าผู้รับสัมปทานรังนกจัดเก็บได้อย่างไร เงินไปตกที่ใครบ้าง แล้วทำอย่างไรจะสามารถเรียกร้องเอาคืนมาเป็นรายได้ของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องนี้มีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นเรื่องต่อเนื่องของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นเกี่ยวโยงกันไปถึงเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง และกลุ่มอิทธิพลนี้เคยใช้อาวุธปืนยิงผู้จัดการบริษัทประกอบการเรือแคนูรายหนึ่งที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูมาแล้ว เนื่องจากผู้จัดการรายนี้ไม่ยอมจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้ สำหรับการให้สัมปทานรังนกจำนวน 43 เกาะนี้ ปัจจุบัน บริษัท พีพี คาบาน่า (1991) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานในวงเงิน 27,900,000 บาท เริ่มสัญญาตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2539 และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 โดยจะมีการเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ต่อไป
|