|
|
|
แอบจดลิขสิทธิ์ประเพณีกินผัก
ข้าราชการห่วยหนุน
ประเพณีกินผักเมืองภูเก็ตกว่า 100
ปี ถูกนักฉวยโอกาสชุบมือเปิบ
แอบฉกเอาไปจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
ห้ามนำข้อมูลเผยแพร่ก่อนขออนุญาต
และฉวยโอกาสจัดกิจกรรมเทอดพระเกียรติหาเงินตั้งกองทุนจัดงานประเพณี
อ้างจังหวัดให้การสนับสนุนเห็นชอบ
มีข้าราชการจัญไรออกมาปกป้องนักฉวยโอกาสตลอดเวลา
กลุ่มตัวแทนศาลเจ้าคัดค้านเต็มที่
ข้างรองอำนวย ซื่อบื้อ
บอกหน้าด้านๆ เพิ่งทราบเรื่อง
เกี่ยวกับกรณีการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก
ของชาวจังหวัดภูเก็ต
ซึ่งกำหนดขึ้นทุกปีในช่วงวันขึ้น
1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9
วัน 9 คืน และในปีนี้ตรงกับวันที่
27 กันยายน ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2543
โดยประเพณีดังกล่าวนี้
ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาถึงปีนี้เป็นเวลา
109 ปีแล้ว
โดยชาวภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงจะร่วมกันละเว้นการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต
และอบายมุขทั้งปวง
แต่เดิมนั้นงานประเพณีนี้ชาวจังหวัดภูเก็ตร่วมกับศาลเจ้าที่อยู่ใกล้เคียงในแต่ละท้องที่
ต่างจัดกันขึ้นเองมา
โดยร่วมแรงร่วมใจบริจาคทรัพย์สินปัจจัย
ข้าวสาร พืชผัก อาหารแห้ง
และแรงกายเข้าช่วยจนงานเสร็จสิ้นลุล่วง
โดยไม่ต้องมีองค์กรใด
หรือบริษัทผลิตภัณฑ์ไหนมาสนับสนุนช่วยเหลือ
แต่มาภายหลังงานประเพณีถือศีลกินผักของชาวจังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียง
ได้ถูกบรรจุให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในปฏิทินการท่องเที่ยวไทย
เมี่อเริ่มมีการบูมของธุรกิจการท่องเที่ยว
จึงได้มีบริษัทโฆษณา
และผลิตภัณฑ์สารพัดชนิดเสนอตัวเข้ามาให้การสนับสนุนกับศาลเจ้าต่างๆ
รวมทั้งองค์กรในท้องถิ่น
ทั้งอบจ.อบต.และเทศบาลเพื่อขอใช้สถานที่ขึ้นคัตเอ้าท์
ติดโปสเตอร์ ป้ายผ้า
ธงทิวโฆษณาสินค้า
ตามถนนและชุมชนต่างๆ
ส่วนทางด้านสื่อโฆษณา แผ่นพับ
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานประเพณีนั้นทาง
ททท.ได้จัดงบประมาณดำเนินการให้
และเอเย่นทัวร์ต่างๆ
จัดขายทัวร์เอาเองตลอดมา
ปรากฏว่าเฉพาะในปีนี้ได้เกิดมีบริษัท
วิชั่นโซน จำกัด และบริษัท
ภูเก็ตครีเอชั่น จำกัด
ได้เสนอตัวเข้ามาร่วมกิจกรรม
และให้การสนับสนุนโดยผ่านทางจังหวัดภูเก็ตก่อนจนกระทั่งได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต
ประจำปี 2543
มีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธาน
แต่ปรากฏว่า 2
บริษัทดังกล่าวเกิดการขัดแย้งกันในการจัดกิจกรรมร่วม
และการหาผลประโยชน์
เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้สั่งการให้ทั้ง
2 บริษัทหารือกันเอง
และให้บันทึกข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร
โดยมีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นประธาน
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 43
บริษัทวิชั่นโซน มีนายสมชาย
เหมรัตน์หิรัญ เป็นผู้แทน
และบริษัทภูเก็ตครีเอชั่น
มีนส.กชทัศ จันทแจ่ม เป็นผู้แทน
สำหรับกิจกรรมที่ทั้งสองบริษัทขอร่วมจัดนั้นคือ
งานประชาสัมพันธ์จังหวัด
และประชาสัมพันธ์งานประเพณีกินผัก
กิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลเทอดพระเกียรติฯ
กิจกรรมผัดหมี่ภูเก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ปรากฏว่ากิจกรรมประชาสัมพันธ์นั้นไปซ้ำซ้อนกับงานของ
ททท.ที่ทำมาโดยตลอด
ส่วนกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลเทอดพระเกียรติฯกลับเป็นการหาเงินเข้ากองทุนการจัดงานประเพณีกินผัก
ซึ่งสอบถามบรรดากรรมการศาลเจ้าหลายศาลเจ้าแล้วต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
ยังไม่มีใครทราบเรื่อง
แต่ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการจัดงานประเพณีกินผักเมื่อวานนี้(ที่14ก.ย.)โดยมีนายอำนวย
สงวนนาม
รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทำหน้าที่เป็นประธานที่ศาลาประชาคม
ปรากฎว่าได้มีเอกสารชุดหนึ่งของบริษัท
ภูเก็ตครีเอชั่น ลงวันที่ 20
กรกฎาคม 2543
ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
เรื่องรายงานผลการดำเนินงาน
ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ
ลงนามโดย นส.กชทัศ จันทแจ่ม
ในฐานะผู้แทนผลิตภัณฑ์สนับสนุนฯหลักทั้ง
5 หลุดมาถึงมือกรรมการหลายคน
ในหนังสือฉบับดังกล่าวมีข้อเสนอแนะการจัดตั้ง"กองทุนการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก
จังหวัดภูเก็ต"
และชี้แจงให้ทางจังหวัดทราบถึงการใช้สื่อ-การถ่ายทอดทางอินเตอร์เนต
ภายใต้ชื่อWWW.phuketfestival.com
เพื่อเผยแพร่ประวัติประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตนั้น
ได้ทำการจดทะเบียน
ลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาในนามนิติบุคคลชื่อ
บริษัทภูเก็ต ครีเอชั่น จำกัด (PHUKET
CREATION CO.,LTD.)
โดยเป็นผู้แทนลิขสิทธิ์ที่ถือแทน
เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งนำข้อมูลในเว็บไซด์นี้
ไปทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ให้ข้อมูลบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
ซึ่งข้อมูลนี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตแล้ว
(คณะทำงานนิทรรศการประเพณีถือศีลกินผัก)
ซึ่งหากหน่วยงานใดมีความประสงค์ที่จะนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่
และใช้ประโยชน์สามารถทำหนังสือเป็นลาย
ลักษณ์อักษรขอนำไปใช้ได้
นายณรงค์ หงษ์หยก
กรรมการศาลเจ้าอาวุโส
ในจังหวัดภูเก็ตได้กล่าวในที่ประชุมว่า
เนื่องจากในปีนี้ได้มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วยกัน
2 บริษัท คือ บริษัทวิชั่นโซน
และบริษัทภูเก็ตครีเอชั่น
โดยเป็นตัวแทนบริษัทผลิตภัณฑ์สินค้าเข้ามาทำการโฆษณาเผยแพร่หาผลประโยชน์ในงานประเพณี
และทำกิจกรรมหารายได้นั้นต้องอยู่ในขอบเขต
และต้องได้รับความเห็นชอบจากทางศาลเจ้าต่างๆ
ด้วย
เพราะตนไม่อยากเห็นการนำงานประเพณีถือศีลกินผัก
ที่เก่าแก่และสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน
ซึ่งเป็นงานบุญให้บุคคลใด
หรือกลุ่มใดเอาไปใช้เพื่อการพาณิชย์
และในระหว่างการประชุม
ได้มีการสอบถามถึงแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาวกชทัช
ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมอยู่ด้วยได้ชี้แจงว่า
เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อให้สามารถมีกองทุนขึ้นมา
และนำรายได้มาใช้ในกิจกรรมที่จะต้องมีการดำเนินการต่อไป
โดยรายได้ก็คงจะมาจากในส่วนของการจัดกิจกรรมการวิ่งการกุศล
หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วมาให้กองทุนดังกล่าวเป็นผู้ดูแล
ตลอดจนสามารถนำเงินกองทุนมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ต่อไป
ในส่วนของเว็บไซด์ที่จัดทำขึ้นนั้น
นางสาวกชทัช กล่าวว่า
เป็นการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องโดยได้รับการรับรองจากทางสภาวัฒนธรรมเรียบร้อยแล้ว
เพราะปัจจุบันธุรกิจในเว็บไซด์เริ่มเข้ามามีบทบาทต่างๆ
มากขึ้น
แม้แต่การขายห้องพักของโรงแรมต่างๆ
ก็ต้องใช้เว็บไซด์เป็นสื่อในการโฆษณา
และการจัดทำเว็บไซด์ดังกล่าวขึ้นมานั้นก็เป็นไปด้วยความสุจริตใจไม่มีอะไรแอบแฝง
ทางด้านตัวแทนศาลเจ้ารายหนึ่ง
กล่าวต่อที่ประชุมว่า
การจดลิขสิทธิ์ในเรื่องของประเพณีกินผักเป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
หรือภาคเอกชนนั้น
คงไม่เป็นการสมควร
และในส่วนที่มีการชี้แจงว่ามีการรับรองถูกต้องแล้วนั้น
ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้รับรอง
เพราะพีธีกรรมของแต่ละศาลเจ้านั้นจะมีที่แตกต่างกัน
และมีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละศาลเจ้า
และในเรื่องของลิขสิทธิ์นั้น
นับตั้งแต่มีประเพณีดังกล่าวขึ้นมา
ก็ยังไม่มีศาลเจ้าใดคิดที่จะจดลิขสิทธิ์เพราะถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลายาวนาน
และมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง
ตัวแทนศาลเจ้าคนเดียวกัน
ยังได้กล่าวถึงการจัดตั้งกองทุนว่า
คงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
เพราะในการจัดหารายได้นั้น
ศาลเจ้าแต่ละศาลก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว
ในส่วนของผู้สนับสนุนที่เข้ามานั้น
ก็ควรจะเข้ามาด้วยความตั้งใจจริงและด้วยจิตอันเป็นกุศล
เพราะงานนี้เป็นงานบุญงานกุศล
ไม่ใช่งานที่จะให้ใครมาหาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ
ทางด้านนายอำนวย
ประธานที่ประชุม กล่าวว่า
เรื่องดังกล่าวนั้น
ในส่วนของจังหวัดยังไม่ทราบเรื่อง
และตนก็เพิ่งเห็นหนังสือดังกล่าว
โดยในส่วนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังไม่ได้มีการสั่งการอะไรลงมาเกี่ยวกับเรื่องนี้
และในส่วนของจังหวัดเองก็คงไม่มีอำนาจไปมอบให้ผู้ใดดำเนินการในลักษณะเช่นนี้
เพราะการจะดำเนินการอะไรนั้นก็คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย
อย่างไรก็ตาม
หลังจากที่การประชุมได้มีการถกเถียงกันเป็นเวลานานพอสมควร
ได้มีผู้เสนอว่า
เมื่อยังไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องนี้ได้
ควรที่จะให้บริษัทดังกล่าวหยุดการเผยแพร่ข้อมูลประเพณีกินผักทางเว็บไซด์ดังกล่าวไปก่อน
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ
และจะต้องมีการคุยกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และมีความรู้ที่แน่ชัด
จะอย่างไรก็ตาม
หลายฝ่ายสงสัยในพฤติกรรมของบริษัทที่เข้ามาให้การสนับสนุนว่าจะมีอะไรแอบแฝง
รวมทั้งมีความเข้าใจในประเพณีและวัฒนธรรมเก่าแก่นี้มากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะในส่วนของสื่อมวลชน
ซึ่งได้มีการซักถามตลอดจนมีการนำเสนอเอกสารที่มีการเผยแพร่
โดยมีการอ้างว่าไปขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ
ในพื้นที่นั้นๆ
และได้รับหนังสือรับรองและอนุญาตจากทางจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม
มีหน่วยงานราชการบางหน่วยที่ออกมาปกป้องการดำเนินการของผู้สนับสนุนตลอดเวลา
จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรบ้างหรือไม่อย่างไร
เพราะประเพณีเช่นนี้
ถือเป็นประเพณีเก่าแก่และเป็นงานบุญงานกุศลที่ไม่ควรจะมีหน่วยงานใดมาหาผลประโยชน์
ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน
|