|
|
|
ป่าไม้อัดไกด์ร้องลั่น
ด้วยค่าธรรมเนียมอุทยานใหม่
ผู้ประกอบการนำเที่ยว จ.ภูเก็ต
พังงา และกระบี่
เรียกร้องให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
ด้วยความเป็นธรรมและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
กลัวเงินค่าธรรมเนียมรั่วไหล
เตรียมระดมพลประชุมหารือเสนอเรื่องแก้ไขเร่งด่วน
หลังจากที่นายปลอดประสพ
สุรัสวดี
อธิบดีกรมป่าไม้ลงนามในประกาศกรมป่าไม้
เรื่องกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน
พุทธศักราช 2543
และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศ
ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการนำเที่ยวทางทะเลที่อยู่ในพื้นที่
จ.ภูเก็ต พังงา และ
จ.กระบี่บางส่วน
ที่นำนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไปเที่ยวที่เขาพิงกัน
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาและพื้นที่ใกล้เคียว
เพราะประกาศดังกล่าวนี้กระทบกระเทือนต่อแผนการตลาดของบริษัทต่างๆ
ทั้งหมด
เพราะมีการจองรายการนำเที่ยวล่วงหน้ามานานประมาณ
1 ปี หรือนานกว่านั้นแล้ว
ดังนั้นการชำระค่าธรรมเนียมจึงตกเป็นภาระของผู้ประกอบการโดยปริยาย
สำหรับประกาศของกรมป่าไม้ฉบับนี้
กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลชาวต่างประเทศ
ผู้ใหญ่คนละ 200 บาท
เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 100 บาท
และเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม
ส่วนคนไทยยังคงจัดเก็บคนละ 20
บาทเท่าเดิม
โดยประกาศนี้ให้ใช้เพิ่มเติมกับประกาศกรมป่าไม้ทั้งปวง
ที่ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแล้ว
และเป็นอุทยานแห่งชาติในสังกัดส่วนอุทยานแห่งชาติ
สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ผู้ประกอบการนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากบริษัทแนวหน้ารายหนึ่ง
ระบุว่า
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่า
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจำนวน 200
บาท
จะมีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหล
หากมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นช่วงเวลาพอสมควร
จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใดและจำนวนเงินดังกล่าว
ถ้าทางราชการจะนำไปใช้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
คือ
เพื่อนำไปว่าจ้างบุคลากรในด้านการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูรักษาความสะอาด
จัดเก็บขยะมูลฝอย
ในลักษณะดังกล่าวนี้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้
แต่เท่าที่ผ่านมาแค่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับนักท่องเที่ยวรายละ
20 บาท
เมื่อพิจารณาจากบัตรต้นขั้ว 3
ส่วน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ
จะฉีกให้บริษัทนำเที่ยวเพียง 1
ส่วน แต่กลับเก็บไว้ถึง 2
ส่วนทีเดียว
จากสถิติพบว่านักท่องเที่ยวประมาณ
3 ล้านคน
ที่มาเยือนภูเก็ตในจำนวนนี้มีสูงถึงประมาณร้อยละ
60
ไปเยือนอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
ดังนั้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพียง
20 บาท เป็นเวลานาน 1 ปี
จะเป็นปริมาณเงินจำนวนสูงและถ้าเป็น
200 บาท รายได้การจัดเก็บจะทวีคูณ
ในเรื่องนี้ทางกรมป่าไม้ต้องออกมาชี้แจงให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอย่างทั่วถึง
ว่าความชัดเจนในการจัดเก็บในอดีตจนถึงปัจจุบัน
สามารถแสดงรายรับหรือการนำเงินดังกล่าวนำไปพัฒนา
ปรับปรุงหรือฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติมากน้อยเพียงใดด้วย
ข่าวแจ้งด้วยว่า
กลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใน
จ.ภูเก็ต พังงา และ จ.กระบี่
มีกำหนดการจัดประชุมเร็วๆ นี้
เพื่อหารือในกรณีประกาศกรมป่าไม้
เรื่องกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
เนื่องจากในเดือนตุลาคมต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปีและขึ้นปีใหม่
เป็นช่วงการท่องเที่ยวหนาแน่น
การแก้ไขปัญหาต่างๆ
ที่สกัดกั้นบรรยากาศของการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องให้เรียบร้อย
10.เทศกาลเปิดฤดูท่องเที่ยว
ให้โชว์ของดี!
จังหวัดภูเก็ตจัดงานเทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว
ให้ทุกหน่วยงานเอาของดีมาอวด
เพื่อความภาคภูมิใจ
พร้อมจัดกิจกรรมทั้งกลางวันกลางคืน
ทั้งกีฬาและบันเทิง
เมื่อตอนค่ำวันที่ 12 ก.ย.43
ที่โรงแรมบ้านสุโขทัย หาดป่าตอง
ได้มีการแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลเปิดฤดูการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
ณ หาดป่าตอง ครั้งที่ 15 โดยมี
นายอำนวย สงวนนาม
รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
นายสมศักดิ์ แสนยานุภาพ
นายอำเภอกะทู้ นายอานุภาพ ธีรรัฐ
ผอ.ททท.ภาคใต้เขต 4 นายเปี่ยน
กี่สิ้น นายกเทศมนตรีตำบลป่าตอง
และนายบันลือ ตันติวิท
ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวหาดป่าตองร่วมแถลงข่าว
วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
เพื่อให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมอย่างเป็นเอกภาพ
และเพื่อเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ที่ดีงามของจังหวัดภูเก็ต
และเป็นการสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
เป้าหมายการจัดงานก็เพื่อให้เป็นการจัดงานเทศกาลที่มีความสนุกสนาน
พร้อมขบวนแห่ของดีเมืองภูเก็ตและมีกิจกรรมการแสดงต่างๆ
หลากหลายรูปแบบ
โดยมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ
เอกชน และประชาชนในท้องถิ่น
ได้มีส่วนร่วมกำหนดการจัดกิจกรรม
เพื่อก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดงานจากเทศบาลตำบลป่าตอง
และหน่วยงานอื่นๆ
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
กำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 1-2
พฤศจิกายน 2543
ที่บริเวณชายหาดป่าตอง
มีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย
การทำบุญตักบาตร
กิจกรรมรณรงค์รักษาความสะอาดหาดป่าตอง
การแข่งขันดำน้ำเก็บขยะ
การแข่งขันกีฬาทางน้ำ
สาธิตการแสดงร่มร่อน
แข่งขันวิ่งเฮฮามินิมาราธอน
แข่งขันการละเล่นพื้นบ้าน
ขบวนแห่ของดีเมืองภูเก็ต
โดยมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการเวลา
17.00 น.
ส่วนภาคกลางคืนมีการแสดงบนเวที
การแข่งขันชกมวยไทย
และการประกวดธิดานานาชาติ
นอกจากนั้นยังมีการแสดงการแกะสลักน้ำแข็ง
แสดงการผสมเครื่องดื่มประกอบลีลา
ประกวดแฟนตาซีบาร์เบียร์
และการประกวดธิดาบาร์เบียร์
ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามวัน
เวลา ดังกล่าว
ส่วนผู้ที่ต้องการร่วมประกวดหรือแข่งขันจะต้องติดต่อสมัครล่วงหน้า
ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ททท.ภาคใต้ เขต 4
และเทศบาลตำบลป่าตอง
11.ท่าเรือฉลองอบจ.ภูเก็ตบริหารเอง
วาดฝันแต่งแต้มสีสรรให้โดดเด่น
อบจ.ภูเก็ตปลื้มท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง
เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าของการก่อสร้าง
พร้อมวาดฝันสร้างสีสรรบริเวณท่าเรืออย่างเลิศหรู
มีรถขนอุปกรณ์นักท่องเที่ยว
แต่งแต้มตัวสะพานให้มีชีวิตชีวา
พร้อมกับการเข้าไปบริหารเองแบบเบ็ดเสร็จ
ส่วนปัญหาชาวบ้านอาจจะได้รับผลกระทบจากการเก็บค่าจอดเรือนั้นหมดห่วงได้เลย
ยืนยันจะเก็บเงินจากเรือที่ประกอบธุรกิจเท่านั้น
สำหรับการใช้คืนเงินกู้สร้างสะพาน
อบจ.ไม่เกี่ยว
ว่าเป็นเรืองของรัฐบาล
นพ.ประสิทธิ์ โกยศิริพงศ์
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการสร้างท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง
ในตอนนี้งานก่อสร้างในส่วนที่เป็นสะพานนั้นได้มีการดำเนินการไปมากแล้ว
และงานบางอย่างที่เกี่ยวกับระบบ
ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
ระบบประปา
พร้อมกับก่อสร้างลานจอดรถพักรอเรือ
หรือแม้แต่ถนนภายใน
ก็กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอยู่
นอกจากนั้นก็มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ
เนื่องจากสะพานจะมีความยาวประมาณ
700 เมตร
การให้บริการผู้ที่ไปใช้ท่าเทียบเรือ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักตกปลา
นักประดาน้ำ ฯลฯ
ที่มีอุปกรณ์มากมาย
จึงจำเป็นที่จะต้องมีรถไว้บริการขนของเหล่านี้
และขนาดของรถก็ต้องมีลักษณะพิเศษคือต้องสามารถที่จะขนสัมภาระจำนวนมากได้ในคราวเดียวกัน
และรูปร่างของรถก็ต้องเหมาะสมกับบริเวณรอบท่าเทียบเรือด้วย
คือมีลักษณะเป็นแฟนตาซี
มีการวาดภาพและระบายสีบริเวณตัวรถเพื่อความสวยงาม
สำหรับตัวท่าเทียบเรืออ่าวฉลองนั้น
ในอนาคตจะเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
เพราะฉะนั้นการตกแต่งบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวฉลองให้เข้าภับภูมิทัศน์โดยรอบนั้นเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะความสะอาด
และทางอบจ.ยังคิดไปถึงว่า
ทำอย่างไรที่จะให้ท่าเรือที่เป็นแท่งคอนกรีตที่ยื่นออกไปยังทะเลนั้น
เมื่อดูจากข้างนอกแล้วจะไม่ให้เหมือนเป็นแต่แท่งคอนกรีตที่แข็ง
นายกอบจ.ภูเก็ตกล่าวต่อไปว่า
ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการบริหารท่าเทียบเรืออ่าวฉลองออกเป็น
3 หน่วยงานด้วยกัน คือ 1.
ทางอบจ.จะเป็นผู้บริหารเองโดยการตั้งบอร์ดขึ้นมาเพื่อบริหารงานนี้โดยเฉพาะ
2.
อาจจะต้องแบ่งเขตพื้นที่ในการบริหาร
เพราะมีกิจกรรมหลายอย่างในบริเวณท่าเทียบเรือที่จะต้องทำ
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมร้านอาหาร
ร้านขายของ
ซึ่งอาจจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม
3.อาจจะให้ทางประมงเข้ามาใช้ในโครงการนี้ด้วย
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมด้วยว่ามีความเห็นอย่างไร
เหมาะสมหรือไม่
"ในกรณีของอบต.ฉลองที่เคยมีรายได้จากการจัดเก็บค่าจอดเรือจากท่าเทียบเรือเก่าอยู่ในขณะนี้นั้น
ทางอบจ.ก็อาจจะจัดสรรแบ่งส่วนพื้นที่ให้หารายได้
และในปัจจุบันอบต.ฉลองก็ไม่ได้บริหารท่าเรือ
เพียงแต่เข้าไปดำเนินการในส่วนของวันสต็อปเซอร์วิสร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าออกของเรือต่างประเทศเท่านั้น"
นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ส่วนในเรื่องของการที่จะเปลี่ยนชื่อท่าเทียบเรือหรือไม่นั้น
ถ้าหากมีความต้องการที่จะเปลี่ยนชื่อ
ก็จะต้องมีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง
คือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ได้แก่
อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับท่าเรือ
ลงความเห็นว่าถ้าต้องการที่จะเปลี่ยนชื่อ
ควรใช้ชื่ออะไร
แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว
ตนคิดว่าชื่อท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง
ก็เป็นชื่อที่ดีอยู่แล้ว
สำหรับสะพานเก่าที่มีชาวบ้านร้องเรียนมาว่า
ให้มีการคงสะพานนี้ไว้เช่นเดิมนั้น
นพ.ประสิทธ์กล่าวว่า
ถ้ามองในแง่ของการบริหารงานแล้ว
ถ้าหากชาวบ้านมีความเดือดร้อนจริงๆ
ก็อาจจะปล่อยไว้สักระยะหนึ่ง
และเมื่อสะพานใหม่สร้างเสร็จเมื่อไหร่
ชาวบ้านคงจะเห็นว่าสะพานใหม่นั้น
สามารถที่จะให้ความสะดวก
และปลอดภัยมากกว่าสะพานเก่า
เพราะสะพานเก่าไม่สามารถที่จะทำการซ่อมแซมได้แล้ว
ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ซึ่งก็คือ
ผู้ประกอบการเรือขนาดใหญ่ที่เดิมเคยอยู่ที่ท่าเทียบเรือเก่านั้น
ทางอบจ.จะเชิญผู้ประกอบการเหล่านั้นมาปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน
และอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านเป็นกังวลว่า
จากเดิมที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจอดเรือ
มาตอนนี้จะต้องจ่ายให้กับท่าเทียบเรือนั้น
คิดว่าคงจะได้รับการยกเว้นให้
เพราะการจัดเก็บค่าใช้จ่ายจากเรือที่เข้ามาเทียบนั้น
จะต้องเป็นเรือที่ทำธุรกิจ เช่น
การรับเหมานำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวระหว่างเกาะ
หรือเที่ยวข้ามประเทศ
ตรงนี้จึงจะมีการจัดเก็บค่าเทียบเรือ
ส่วนเรื่องของการใช้หนี้เงินกู้โออีซีเอฟนั้น
อบจ.ไม่ได้เป็นผู้เซ็นสัญญาเงินกู้
จึงไม่ทราบวิธีการเพราะโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล
ที่เป็นเป็นผู้มองเห็นปัญหาของท่าเทียบเรือเก่า
จึงต้องการที่จะสร้างท่าเทียบเรือใหม่ขึ้นมา
และเมื่อมีการดำเนินการแล้ว
จำเป็นที่จะต้องหาหน่วยงานที่จะสามารถดูแลโครงการนี้ได้
และในเวลานั้นรัฐบาลก็มีความเห็นว่า
อบจ.น่าที่จะสามารถดำเนินการเกี่ยวกับโครงการท่าเทียบเรือได้
จึงได้สั่งการให้ทางอบจ.เป็นผู้ดูแลงานในโครงการนี้.
|