![]() |
ท่องเที่ยว
บทความพิเศษ สมัครงาน เศรษฐกิจ-ธุรกิจ การตลาด การลงทุน |
URL: www.phukettoday.com/news |
ฉบับที่ 642 ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม ๒๕๔๓ |
|
"ภูเก็ตไซเบอร์พอร์ต" เป็นแค่ฝันที่ยังไกลความจริง ความฝันที่ยังห่างไกลจากความเป็นจริง กรณีที่จะให้ภูเก็ตเป็นเมืองไอที ต้องแปรสภาพให้เป็นเมืองที่มีการปกครองในรูปแบบพิเศษ สามารถออกกำหนดหรือกฎข้อบังคับได้เอง บุคคลากรรวมทั้งเงินทุนต้องมีพร้อม และต้องเป็นอิสระ ว่าขณะนี้ข้อเท็จจริงไฟฟ้า การสื่อสารเองก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.43 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้จัดสัมมนา"เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาภูเก็ต" ที่โรงแรมป่าตองเมอร์ลิน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ตามแนวทางในยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการภูเก็ตเมืองนานาชาติ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาภูเก็ตนั้น ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และเนคเทค ได้จัดทำแผนพัฒนาควบคู่ไปกับแผนนานาชาติตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งก็ได้รับความสนใจในการลงทุนและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว ก็ยังยึดหลักให้คงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ตอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูเก็ต เพียงแต่เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้สมองคน สำหรับกรอบการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาภูเก็ต หรือที่เรียกว่า The Greater Phuket Digital Paradise (PhD) นั้น ได้กำหนดไว้ดังนี้ คือ 1.ขยายขอบเขตการพัฒนาและการลงทุนให้ครอบคลุมแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางไอที 2010, e-ASEAN และ e-Thailand 4 ด้านหลักคือ การพัฒนาและบิการสังคม (e-Society), การบริหารและบริการภาครัฐ (e-Goverment), การพัฒนาและลงทุนทางธุรกิจ (e-Business) และการพัฒนาโครงสร่างพื้นฐานสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินงานให้เป็นไอทีซิตี้ หรือภูเก็ตไซเบอร์พอร์ต และ 2.ขยายพื้นที่พัฒนาในลักษณะของการพัฒนากลุ่มจังหวัดเป็นเครือข่าย โดยขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดมัน เช่น กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล ดร.อาทิตย์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ติดต่อขอความร่วมมือไปยังประเทศสวีเดน อินเดีย และอังกฤษ เพื่อเข้ามาร่วมมือกับไทยในการพัฒนา โดยในส่วนของสวีเดนสนใจด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนอินเดียจะเข้ามาช่วยเหลือในการเตรียมพร้อมด้านกำลังคน ส่วนภาคเอกชนของอังกฤษให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนมาก ตนจึงได้ขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลอังกฤษในการให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี "การลงทุนด้านต่างๆ คงจะไม่ใช้เงินของรัฐบาลมากนัก งบประมาณของรัฐบาลจะฝช้ในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะเป็นงบประมาณส่วนหนึ่งในแผนงานโครงการพัฒนาภูเก็ตเป็นเมืองนานาชาติ และเปิดโอกาสให้เอกชนทั้งคนไทยและต่างชาติจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุนในโครงการต่อเนื่องทั้งด้านดาวเทียม เคเบิลใยแก้ว ฯลฯ ขณะนี้มีภาคเอกชนจากหลายๆ ชาติสนใจติดต่อจะเข้ามาลงทุนมาก เช่น สวีเดน และคาดว่าภายใน 2 ปีจากนี้ไป คงจะมีการเคลื่อนไหวของนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านไอทีที่ภูเก็ตบ้างแล้ว ในแง่ของการเข้ามาเขียนซอฟต์แวร์" ดร.อาทิตย์ กล่าว ทางด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การพัฒนาให้ภูเก็ตเป็นเมืองไอทีหรือไซบอร์พอร็ตเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ซึ่งจะสามารถทำได้ต้องกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการเมืองภูเก็ตใหม่ ในลักษณะของการปกครองรูปแบบพิเศษ ไม่ต้องมีกระทรวงมหาดไทย และกระทวง ทบวง กรม อื่นๆ บังคับดูแลอยู่ นายมีชัย กล่าวต่อว่า การปกครองรูปแบบพิเศษนั้น หน่วยงานต่างๆ จะต้องโอนอำนาจการดูแลทั้งหมดให้กีบภูเก็ต และส่วนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด รวมทั้งองค์กรพิเศษนี้จะต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกข้อกำหนดและข้อบังคับได้ด้วยตัวเอง แต่จะต้องไม่จัดกับกฎหมายของบ้านเมือง นอกจานี้ต้องมีความพร้อมและมีอำนาจในการพิจารณากิจกรรม ที่จะมาลงทุนในลักษณะของ one stop service รวมทั้งภูเก็ตต้องมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลกลางให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลกลางเข้ามากำหนดดูแล ในตอนท้ายของการประชุม ได้มีผลสรุปร่วมกันว่า ศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตในด้านต่างๆ นั้น มองว่ามีความพร้อม แต่จริงๆ แล้วถ้ามองให้ลึกลงไป ยังมีส่วนประกอบอีกหลายอย่างที่ยังเป็นปัญหาให้ต้องแก้ไข และต้องใช้เวลาอีกยาวนาน เช่น เรื่องการสื่อสาร ยังมีความซ้ำซ้อน ต่างคนต่างทำ การวางเคเบิ้ลทับซ้อนกัน ซึ่งจะต้องแก้ไขและควรจะมีหน่วยงานกลางมาดูแลให้มีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งของภาคราชการและเอกชน นอกจากนี้ปัจจุบันการสื่อสารที่จะผ่านไปยัง จ.พังงา ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ช่วงสะพานเทพกษัตรี ตรงช่องแคบภูเก็ต ด้านปัญหาของบุคลากร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องเร่งพัฒนาและผลักดันให้เป็นนโยบายของภาครัฐที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ เช่น สถานศึกษาของจังหวัดภูเก็ต เครื่องมือการเรียนการสอน รวมทั้งด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ที่ไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน โดยสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งก็มีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ไม่กี่เครื่องเท่านั้น ด้านสถาบันการศึกษา ต้องเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของภาษาอังกฤษที่จะต้องเน้นหนักและให้ความสำคัญเช่นกัน ต้องมีการตั้งศูนย์ภาษาหรือศูนย์ฝึกอบรมทางด้านไอที เป็นศูนย์สาธารณะและมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาสารสนเทศเข้าไปในท้องถิ่นเข้าไปในชุมชน พร้อมกับกับยกระดับคุณภาพชีวิต และปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไหนก่อนหลังก็จะต้องพูดกันต่อไป นอกจากนั้น จะต้องจัดให้มีถังข้อมูลของจังหวัดที่มีเอกภาพ มีการบริหารที่ถูกต้อง สามารถที่จะเข้าไปดูฐานข้อมูลได้อย่างโปร่งใส ทุกระบบ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของท้องถิ่น การเงิน การคลัง ซึ่งข้อเท็จจริงก็ยังทำไม่ได้ และทางด้านสารสนเทศของภาครัฐก็ต้องใช้ระบบเดียวกัน เพราะปัจจุบันข้อบังคับระเบียบต่างๆ แต่ละหน่วยงานก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น การสื่อสารใช้ระเบียบหนึ่ง องค์การโทรศัพท์ก็ใช้อีกระบบหนึ่ง และผังเมืองเองก็ใช้อีกระบบหนึ่ง ทำอย่างไรจะให้หันมาใช้ในระบบเดียวกันได้หรือไม่ ภาครัฐจะจัดสรรและบริการข้อมูลร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการที่จะต้องไปแก้ไขกฎหมาย
|